13 พฤศจิกายน 2553

กรรมลิขิต




กรรมลิขิต
กรรมหมายถึงการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา เมื่อจงใจแล้วก็ย่อมทำกรรมทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ เรียกว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ตามลำดับ กรรมจึงเป็นคำกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่คนทั่วไปมักเข้าใจว่า กรรมหมายถึงบาปหรือเคราะห์ เป็นการเข้าใจไปในทางร้ายแต่อย่างเดียว เช่น คนที่เกิดมาจนหรือพิการ ก็พูดว่าคนมีกรรม
พุทธศาสนาสอนว่า ความเป็นอยู่หรือชะตาชีวิตของคนเรานั้น ไม่ขึ้นกับเวลาตกฟาก ไม่ขึ้นกับอำนาจดวงดาว ไม่ขึ้นกับอำนาจพรหมลิขิต แต่ขึ้นอยู่กับกรรม กรรมต่างหากเป็นผู้ลิขิตชะตาชีวิตหรืออนาคตของคนเรา ทุกคนต่างลิขิตโชคดีโชคร้าย ลิขิตความเจริญความเสื่อมให้แก่ชีวิตด้วยกรรมของตนเอง กล่าวคือ ถ้าอยากได้ดีมีความสุขความเจริญ ก็ต้องทำแต่กรรมดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าทำกรรมชั่ว ชีวิตก็จะมีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน เป็นไปตามพระบาลี (เล่ม ๑๕ ข้อ ๓๓๓ ย่อว่า ๑๕/๓๓๓) ที่ว่า
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ทำดีได้ดี
ปาปการี จ ปาปกํ ทำชั่วได้ชั่ว
คนที่เชื่อมั่นในหลัก “กรรมลิขิต” ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ย่อมทำแต่ความดีหลีกหนีความชั่ว รู้จักพึ่งตนเอง ขยันทำกิจการไม่เกียจคร้าน ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่สร้างวิมานในอากาศ ประสงค์สิ่งใดก็ลงมือทำ เพื่อให้เป็นจริงตามปรารถนา เมื่อมีอุปสรรคเกิดขึ้นก็ไม่ย่อท้อ พยายามหาทางแก้ไขและต่อสู้จนประสบความสำเร็จ คนประเภทนี้แม้จะเกิดมายากจนเพราะอำนาจของกรรมชั่วที่ทำไว้ในอดีต ก็มักจะก่อร่างสร้างตัวจนฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ด้วยอำนาจกรรมดีที่ทำในปัจจุบัน ไม่มัวแต่เพ้อฝันอยากได้ดีลอยๆ โดยไม่ลงมือทำ ถ้าความอยากได้ดีลอยๆ โดยไม่ต้องทำอะไร จะเป็นเหตุให้สำเร็จความปรารถนาแล้ว ใครเล่าในโลกนี้จะยากจน หรือพลาดจากสิ่งที่หวัง

นิยาม ๕
ตามหลักของพุทธศาสนา นิยามหรือกฎธรรมชาติมี ๕ อย่าง คือ
๑. พีชนิยาม กฎแห่งพืช ธรรมดาของพืช เช่น ปลูกถั่วได้ถั่ว (ไม่ใช่งา) อ้อยมีรสหวาน ดอกทานตะวันหันหน้าไปทางดวงอาทิตย์
๒. อุตุนิยาม กฎแห่งฤดู ธรรมดาของฤดู เช่น ฝนตก แดดออก ลมพัด ลมไม่พัด น้ำขึ้น น้ำลง ดอกบัวกลางวันแย้มกลางคืนหุบ ดอกแก้วต่างต้นบานพร้อมกัน
๓. กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม ว่าด้วยการกระทำของมนุษย์ คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
๔. จิตนิยาม กฎแห่งจิต ธรรมชาติของจิต เช่น เกิดดับตลอดเวลา รับอารมณ์ทีละอย่าง
๕. ธรรมนิยาม กฎแห่งธรรมะ คือ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา การที่สิ่งมีชีวิตต้องวนเวียนเกิดแก่เจ็บตาย ยากจะหลุดพ้นได้ ก็เป็นไปตามธรรมนิยามนี้เอง
เนื่องจากนิยามมี ๕ (แต่นิยามอื่นล้วนสรุปลงในธรรมนิยาม) ปรากฏการณ์ต่างๆ จึงเกิดจากกฎธรรมชาติหลายอย่างรวมกัน ดังนั้น ความเข้าใจที่ว่า ทุกสิ่งในโลกล้วนขึ้นกับกรรมนิยาม จึงเป็นความเข้าใจที่ผิด อย่างไรก็ตาม กรรมนิยามเป็นนิยามที่สำคัญมากสำหรับมนุษย์ เพราะเกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง มนุษย์มีสิทธิที่จะเลือกทำกรรมตามความพอใจ แล้วกรรมนั้นจะเป็นผู้ลิขิตโชคชะตาหรืออนาคตของมนุษย์ ส่วนนิยามอื่นๆ เป็นเรื่องของธรรมชาติ เช่น กลางวัน กลางคืน ฤดูหนาว ฤดูร้อน เกิดจกการที่โลกหมุนรอบตัวเองและรอบดวงอาทิตย์ มนุษย์จะห้ามปรามหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มนุษย์จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ เช่น ประดิษฐ์หลอดไฟเพื่อให้แสงสว่างในเวลากลางคืน ประดิษฐ์เครื่องปรับอากาศเพื่อผ่อนคลายความหนาวร้อน สุขทุกข์ของมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับกรรมนิยามเป็นสำคัญ

กรรมชั่วและกรรมดี
การวินิจฉัยว่า สิ่งใดเป็นกรรมดี สิ่งใดเป็นกรรมชั่ว สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
๑. การกระทำที่มีเหตุมาจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ ถ้ามีเหตุมาจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ
๒. การกระทำที่ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนใครๆ มีสุขเป็นผล ไม่ทำให้ร้อนใจภายหลัง การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ ถ้าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนหรือผู้อื่น มีทุกข์เป็นผล หรือทำให้ร้อนใจภายหลัง การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ
๓. การกระทำที่ทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ ถ้าทำให้กุศลธรรมเสื่อมไป อกุศลธรรมเจริญขึ้น การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ
การกระทำความดีที่สมบูรณ์แบบนั้น ต้องทำให้ครบวงจร คือ ดีทั้งเหตุ ดีทั้งผล และทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างได้รับผลดี เช่น ในการปล่อยสัตว์ ผู้ปล่อยก็ได้บุญ คือ รู้สึกดีใจชื่นใจที่ตนได้ทำความดี สัตว์ที่ถูกปล่อยก็ดีใจที่มีชีวิตรอดพ้นจากความตาย หรือพ้นจากการจองจำ
การกระทำบางอย่าง เช่น หลับในเวลาเรียน แม้จะไม่ใช่กรรมชั่ว แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ดังนั้นนอกจากพิจารณาเหตุและผลดังกล่าวแล้ว ก่อนจะทำอะไรลงไป ควรพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้
๑. กฎหมาย การทำผิดกฎหมายย่อมไม่สมควร เช่น การ จอดรถในที่ห้ามจอด
๒. ศีล การกระทำบางอย่าง เช่น การฆ่าสัตว์โดยมีอาชญาบัตรถูกต้อง แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดศีล จึงไม่ควรทำ สำหรับคฤหัสถ์ควรรักษาศีลห้าเป็นอย่างน้อย
๓. ฐานะ การกระทำใด ถ้าไม่เหมาะกับเพศ วัย ความรู้ กำลัง ยศ ตระกูล หรือ ฐานะในสังคมของตน การกระทำนั้นไม่สมควร เช่น เป็นชายแต่แต่งกายเหมือนหญิง มีรายได้น้อยแต่ชอบใช้ของแพงๆ
๔. คำตำหนิ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ติตนเองด้วยสิ่งใด ไม่ควรทำสิ่งนั้น ดังนั้น การกระทำใด ถ้าตนเองตำหนิ หรือ ผู้รู้ (จักผิดชอบชั่วดี) ตำหนิ การกระทำนั้นไม่สมควร คำตำหนิของผู้รู้เปรียบเหมือนลายแทงขุมทรัพย์ ผู้นำมาพิจารณาโดยแยบคายจะได้รับประโยชน์ คือ รู้ข้อบกพร่องในตัว แล้วแก้ไขเสีย
๕. กาลเวลา การกระทำที่ไม่เหมาะสมกับกาลเวลาแบ่งได้ ๔ ลักษณะ คือ
๕.๑ ควรจะรีบแต่กลับเฉื่อยชา เช่น การปฐมพยาบาลผู้ประสบอุบัติเหตุหรือป่วยหนัก ต้องทำอย่างรีบด่วน ถ้าช้าอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
๕.๒ ควรจะช้าแต่กลับเร็ว เช่น การรีบกลืนอาหารโดยไม่เคี้ยวให้ละเอียดทำให้อาหารย่อยยาก
๕.๓ ผิดเวลา ถ้าพูดไม่ถูกกาลเวลา เช่น การพูดกับคนที่กำลังโกรธมักจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี การทำผิดเวลา เช่น ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว ย่อมได้ของแพง เพราะไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า
๕.๔ ผิดลำดับ คือ ควรทำก่อนกลับทำทีหลัง ควรทำทีหลังกลับทำก่อน
อรรถกถาอาวาริยชาดกกล่าวถึงคนแจวเรือจ้างข้ามฟาก เขาส่งผู้โดยสารข้ามแม่น้ำคงคาก่อนแล้วค่อยทวงค่าจ้างภายหลัง การทำผิดลำดับทำให้เขาต้องทะเลาะกับผู้โดยสารที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง เขาต้องใช้วิธีด่าและทุบตีผู้โดยสาร จึงจะได้ค่าจ้าง ถ้าเขาใช้นโยบาย จ่ายก่อน จรทีหลัง ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้อง เขาจะเรียกร้องค่าจ้างได้มากตามต้องการ เพราะผู้โดยสารที่อยากจะข้ามฟาก แม้เกินราคาค่าจ้างก็ให้ได้
๖. สถานที่ การกระทำที่ไม่เหมาะกับสถานที่มี ๒ ลักษณะ คือ
๖.๑ ขัดกับประเพณีอันดีงาม เช่น การแต่งกายด้วยสีฉูดฉาดไปในงานศพ คนไทยเราไม่นิยมทำกัน ท่านจึงสอนว่า เข้าเมือง ตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม
๖.๒ ขัดกับสภาพแวดล้อม เช่น การสวมเสื้อผ้าสีดำหรือสีที่มืดทึบในขณะที่อากาศร้อนเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะสีดำจะดูดความร้อนได้ดีทำให้ร่างกายร้อนมาก เมื่อกลางปี ๒๕๓๘ ในสหรัฐอเมริกา อากาศร้อนจัดมาก มีผู้เสียชีวิตเกือบพันคนเพราะปรับตัวให้เข้ากับอากาศที่ร้อนจัดไม่ได้
อนึ่ง การอยู่ในถิ่นที่มีมลพิษมาก ห่างไกลจากที่ทำงาน ไกลจากวัด มีแหล่งอบายมุขมาก เป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะเป็นอันตรายแก่สุขภาพและไม่สะดวกในการประกอบอาชีพและการปฏิบัติธรรม
๗. ความพอดี การกระทำที่ไม่พอดี คือ ทำยังไม่ถึงดีหรือทำเลยดี ทำให้ผลที่ออกมาไม่ดี เช่น การหุง ข้าวนานจนเลยความพอดี ย่อมได้ข้าวไหม้ ถ้าหุงยังไม่ถึงจุดที่พอดี ก็เลิกหุงเสียก่อน ข้าวก็สุกๆ ดิบๆ
กรรมชั่วมีมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงทุจริต ๓ ชนิด รวม ๑๐ อย่าง คือ
๑. กายทุจริต ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
๒. วจีทุจริต ได้แก่ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ
๓. มโนทุจริต ได้แก่ อยากได้ของเขาในทางไม่ชอบ ปองร้ายเขา มีความเห็นผิด (เช่น ทานไม่มีผล กรรม ดีกรรมชั่วไม่มีผล นรกสวรรค์ไม่มี พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ)
เมื่อแบ่งย่อยออกไปอีก คือ ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ พอใจในการฆ่าสัตว์ กล่าวสรรเสริญการฆ่าสัตว์ ..... กล่าวสรรเสริญความเห็นผิด รวม ๔๐ เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๔๐
กรรมชั่วย่อมนำไปสู่คุกตะรางหรือนรก ควรเว้นเสีย และควรเว้นอบายมุขซึ่งเป็นเหตุให้ฉิบหาย เช่น น้ำเมา การพนัน คนชั่ว ความเกียจคร้าน เป็นต้น
กรรมดีมีมาก เช่น กุศลกรรมบถ ๔๐ (การละเว้นอกุศลกรรมบถ ๔๐)
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ กรรมดีหรือบุญที่เกิดจากการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา การอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ การขวนขวายในกิจที่ชอบ การให้ส่วนบุญ การอนุโมทนาส่วนบุญ การฟังธรรม การแสดงธรรม การทำความเห็นให้ตรง
มงคล ๓๘ คือเหตุแห่งความเจริญ เช่น ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต ไม่ประมาท สันโดษ อดทน เป็นต้น
กรรมดีเป็นสิ่งที่ควรกระทำเพราะนำความสุขมาให้ทั้งในชาตินี้ และชาติหน้า

ผลของกรรม
จูฬกัมมวิภังคสูตร (๑๔/๕๗๙) พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลของกรรมดีกรรมชั่ว ๗ คู่ ดังนี้
๑. ผลการฆ่าสัตว์ ตายไปจะเข้าถึงอบาย หากไม่เข้าถึงอบายถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีอายุสั้น ผลการไม่ฆ่าสัตว์ ตายไปจะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หากไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีอายุยืน
๒. ผลการเบียดเบียนสัตว์ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีโรคมาก ผลการไม่เบียดเบียนสัตว์ ... ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็มีโรคน้อย


๓. ผลการเป็นคนมักโกรธ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีผิวพรรณทราม ผลการเป็นคนไม่มักโกรธ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีผิวพรรณงาม
๔. ผลการริษยาในลาภสักการะของคนอื่น ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีศักดิ์ต่ำ ผลการไม่ริษยาในลาภสักการะของคนอื่น ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีศักดิ์สูง
๕. ผลการไม่ให้ทาน ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็ยากจน ผลการให้ทาน ... ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็ร่ำรวย
๖. ผลของความกระด้างเย่อหยิ่ง ไม่ไหว้คนที่ควรไหว้ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในตระกูลต่ำ ผลของความไม่กระด้างเย่อหยิ่ง ไหว้คนที่ควรไหว้ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในตระกูลสูง
๗. ผลการไม่เข้าไปหาผู้รู้ ไม่สนใจถามเรื่องบาป บุญ ดี ชั่ว ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็โง่เขลา ผลการเข้าไปหาผู้รู้ สนใจถามเรื่องบาป บุญ ดี ชั่ว ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีปัญญาดี
ทักขิณาวิภังคสูตร (๑๔/๗๑๑) พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลการให้ทานว่า
๑. ให้ทานในสัตว์เดรัจฉานได้ผลร้อยเท่า
๒. ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีลได้ผลพันเท่า
๓. ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีลได้ผลแสนเท่า
๔. ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกามได้ผลแสนโกฏิเท่า
๕. ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้งได้ผล นับประมาณไม่ได้
๖. ถ้าให้ทานในพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลยิ่งไม่อาจนับประมาณได้เลย
สัปปุริสทานสูตร (๒๒/๑๔๘) พระพุทธเจ้าตรัสถึงทาน ๕ ประการ
๑. ทานที่ให้ด้วยศรัทธา ทำให้ร่ำรวยและมีรูปงาม
๒. ทานที่ให้โดยเคารพ ทำให้ร่ำรวยและมีบุตร ภรรยา บริวาร ที่เชื่อฟัง
๓. ทานที่ให้โดยกาลอันควร ทำให้ร่ำรวยตั้งแต่ปฐมวัย
๔. ทานที่ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ทำให้ร่ำรวยและพอใจใช้ของดีๆ
๕. ทานที่ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ทำให้ร่ำรวยและทรัพย์นั้นปลอดภัยจากไฟ น้ำ หรือการแย่งชิงของผู้อื่น
ทานสูตร (๒๓/๔๙) พระพุทธเจ้าตรัสถึงการให้ทาน ๗ อย่าง
๑. การให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปจักได้เสวยผลทานนี้ เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
๒. การให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
๓. การให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้ เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นยามา
๔. การให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
๕. การให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤษีครั้งก่อน เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
๖. การให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจสุขใจ เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
๗. การให้ทานเพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เมื่อตายแล้วย่อมเกิด ในพรหมโลก (ชั้นสุทธาวาส) ภายหลังย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง (อรรถกถาอธิบายว่า เขาไม่อาจไปเกิดในพรหมโลกด้วยทาน แต่ด้วยจิตอันประดับด้วยทานนั้น เขาทำฌานและอริยมรรคให้บังเกิด ย่อมเกิดในพรหมโลกด้วยฌาน)
อรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ กล่าวถึงทาน ๔ ประการ คือ
๑. ให้ทานด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
๒. ชักชวนผู้อื่น ไม่ให้ด้วยตน ย่อมได้บริวารสมบัติ ไม่ได้โภคสมบัติ
๓. ไม่ให้ด้วยตน ทั้งไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมไม่ได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
๔. ให้ด้วยตน ทั้งชักชวนผู้อื่น ย่อมได้ทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติ
อรรถกถากล่าวว่า ทานที่มีผลมากประกอบด้วยองค์ ๓ คือ
๑. ผู้รับมีศีลมีคุณธรรม
๒. ของที่ให้ได้มาอย่างสุจริต มีประโยชน์และสมควรแก่ผู้รับ
๓. มีเจตนาบริสุทธิ์ มีจิตใจที่ยินดี แจ่มใส เบิกบาน ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และเมื่อให้แล้ว
อรรถกถากล่าวว่า ผลแห่งบาปจะมากหรือน้อยขึ้นกับองค์ ๓ คือ
๑. ถ้าคน สัตว์ หรือสิ่งของที่ล่วงละเมิด มีความดี ประโยชน์ หรือมูลค่ามาก บาปก็มาก ถ้าความดี ประโยชน์หรือมูลค่าน้อย บาปก็น้อย
๒. ถ้าความพยายามมากก็บาปมาก ถ้าความพยายามน้อยก็บาปน้อย
๓. ถ้าเหตุจูงใจคือราคะโทสะโมหะมากก็บาปมาก ถ้าราคะโทสะโมหะน้อยก็บาปน้อย

วิบัติและสมบัติ

ผลดีย่อมเกิดจากกรรมดี กรรมดีจะไม่ให้ผลชั่ว แต่ให้ผลดีเมื่อมีโอกาส ถ้าทำดีแล้วยังไม่ได้ดี แสดงว่ามีข้อเสียหรือวิบัติขัดขวาง วิบัติมี ๔ คือ
๑. คติวิบัติ กำเนิดชั่ว ในอบายภูมิ ในตระกูลต่ำ ยากจน ถิ่นกันดาร
๒. อุปธิวิบัติ รูปชั่ว พิการ อ่อนแอ ปัญญาอ่อน
๓. กาลวิบัติ กลียุค ภัยพิบัติมาก คนชั่วมีอำนาจ ผู้คนไร้ศีลธรรม
๔. ปโยควิบัติ ความเพียรเลว ย่อหย่อน ทำผิดวิธี
วิบัติย่อมสนับสนุนกรรมชั่วบางอย่าง เช่น ผู้ที่เกิดมาจนย่อมลำบากอยู่แล้ว ถ้าเกียจคร้านย่อมลำบากเป็นทวีคูณ
วิบัติอาจขัดขวางกรรมดีบางอย่างในบางโอกาส แต่ขัดขวางความดีบางอย่างไม่ได้ เช่น ในถิ่นกันดาร คนขยันอาจเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง ในการสมัครงาน คนขี้เหร่ แม้มีคุณสมบัติครบ ก็มักจะไม่ได้งาน รูปร่างอาจเป็นอุปสรรคในการทำงาน แต่ศาลจะไม่ตัดสินผู้บริสุทธิ์ให้เป็นผู้ผิดโดยใช้รูปร่างเป็นเกณฑ์
วิบัติ ๔ นี้เองเป็นสาเหตุของความเห็นผิดที่ว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน
ตรงกันข้าม ถ้าทำชั่วแล้วยังไม่ได้ชั่ว แสดงว่ามีข้อดีหรือสมบัติคุ้มครอง สมบัติมี ๔ คือ
๑. คติสมบัติ กำเนิดดี เป็นเทวดา มนุษย์ สูงศักดิ์ ร่ำรวย ถิ่นที่เจริญ
๒. อุปธิสมบัติ รูปดี แข็งแรง ฉลาด
๓. กาลสมบัติ ยุคเจริญ โลกอุดมสมบูรณ์ คนดีมีอำนาจ ผู้คนมีศีลธรรม
๔. ปโยคสมบัติ ความเพียรชอบ แข็งขัน ทำถูกวิธี
สมบัติย่อมสนับสนุนกรรมดีบางอย่าง เช่น คนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ถ้าฉลาดและขยันก็จะเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
สมบัติอาจขัดขวางกรรมชั่วบางอย่างในบางโอกาส แต่ขัดขวางกรรมชั่วบางอย่างไม่ได้ เช่น ในประเทศที่ร่ำรวย คนเกียจคร้านก็ยังสุขสบายด้วยสวัสดิการจากรัฐบาล ในที่ลับตาหรือเวลาที่ปลอดคน โจรกรรมมักจะสำเร็จ แต่เมื่อทำบ่อย ๆ ย่อมถูกจับได้
สมบัติ ๔ นี้เองทำให้บางคนเข้าใจผิดว่า ทำชั่วได้ดีมีถมไป

กรรม ๑๒
คัมภีร์อรรถกถาได้จำแนกกรรมเป็น ๓ หมวดๆ ละ ๔ รวมเป็น กรรม ๑๒ คือ
หมวดที่ ๑ กรรมจำแนกตามกาลที่ให้ผลมี ๔ คือ
๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาตินี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติหน้า
๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติต่อๆ ไป
๔. อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล
หมวดที่ ๒ กรรมจำแนกตามหน้าที่มี ๔ คือ
๕. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด (เป็นมนุษย์ เปรต ฯลฯ)
๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมที่สนับสนุนชนกกรรม ถ้าเกิดดี ก็ส่งให้ดียิ่งขึ้น ถ้าเกิดชั่ว ก็ส่งให้ชั่วยิ่งขึ้น
๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้นชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมให้เบาบางลง อุปปีฬกกรรมเป็นกรรมตรงข้ามกับกรรมเดิม
๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอนชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมให้ตกไป แล้วให้ผลตรงกันข้าม จากดีเป็นชั่ว จากชั่วเป็นดี
หมวดที่ ๓ กรรมจำแนกตามความหนักเบามี ๔ คือ
๙. ครุกกรรม กรรมหนัก ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ สมาบัติ ๘
๑๐. พหุลกรรม กรรมที่มีกำลัง แต่ไม่เท่าครุกกรรม หรือกรรม ที่ทำบ่อยจนชิน ให้ผลรองจากครุกกรรม
๑๑. อาสันนกรรม กรรมที่ทำเมื่อจวนจะตาย ถ้าไม่มี ๒ ข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อน แต่อาจารย์บางท่านกล่าวว่า อาสันนกรรมให้ผลก่อนพหุลกรรม อุปมาเหมือนโคที่ไม่มีกำลัง แต่ยืนอยู่ใกล้ประตูคอก เมื่อประตูเปิด ก็ออกไปได้ก่อนโคที่มีกำลัง แต่ยืนอยู่ไกลจากประตู
๑๒. กตัตตากรรม กรรมที่ทำด้วยเจตนาอ่อน คือ ประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่ได้ตั้งใจไว้ ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล กรรมนี้จึงให้ผล
มรณสมัย
ตะเกียงน้ำมันที่ลุกโพลงต้องดับลงเพราะเหตุ ๔ อย่าง คือ ไส้หมด น้ำมันหมด ทั้งไส้ทั้งน้ำมันหมด ไส้และน้ำมันยังมีแต่ถูกลมพัดดับ ฉันใด ชีวิตก็ดับลงด้วย มรณะ ๔ ฉันนั้น
พระพุทธเจ้าทรงแสดง มรณะ ๔ อย่าง ได้แก่
๑. อายุกขยมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุ คือสิ้นอายุขัย อายุขัยของ มนุษย์ไม่แน่นอน สมัยใดทำดีมาก ทำชั่วน้อย อายุขัยก็ยืน สมัยใดทำชั่วมาก ทำดีน้อย อายุขัยก็สั้น สมัยพุทธกาลอายุขัยประมาณ ๑๐๐ ปี ปัจจุบันประมาณ ๗๕ ปี คนที่ตายเมื่ออายุ ๗๕ ปี (ขาดหรือเกินเล็กน้อย) หรืออยู่ถึง ๑๐๐ ปี หรือมากกว่าแต่จะไม่เกิน ๑๕๐ ปี (สองเท่าของอายุขัย) เพราะอำนาจบุญที่งดเว้นการฆ่าสัตว์ ก็ชื่อว่าตายเพราะสิ้นอายุ (ไส้หมด)
๒. กัมมักขยมรณะ ตายเพราะสิ้นกรรม ชนกกรรมนำให้เกิดเป็นมนุษย์ และอุปัตถัมภกกรรมอุดหนุนให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้เพียง ๕ ๑๐ ๒๐ หรือ ๕๐ ปี แล้วก็ตายโดยไม่ถึงอายุขัยคือ ๗๕ ปี (น้ำมันหมด)
๓. อุภยักขยมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุและกรรม ชนกกรรมนำเกิดเป็นมนุษย์ และอุปัตถัมภกกรรมอุดหนุนจนมีชีวิตอยู่ถึงอายุขัย แล้วก็ตาย (ทั้งไส้ทั้งน้ำมันหมด)
๔. อุปัจเฉทกมรณะ ตายเพราะถูกกรรมเข้ามาตัดรอนกรรมในที่นี้หมายถึงอุปัจเฉทกกรรม เช่น ถูกรถชนตาย ตกน้ำตาย (ลมพัดดับ)
(กรรม โดย คณะสหายธรรม)
เมื่อเกิดมาแล้ว ทุกชีวิตก็แก่พอที่จะตายได้ บางคนตายอย่างกระทันหันทั้งที่กำลังหลับสนิท แม้ไม่รู้ล่วงหน้า แต่ก่อนที่จะตาย นิมิต ย่อมปรากฏขึ้นเพื่อให้จิตยึดเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิ นิมิตมี ๓ แต่จะปรากฏแก่จิตของผู้ใกล้ตายเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง นิมิต ๓ ได้แก่
๑. กรรม หมายถึง จิตยึดเอากรรมอย่างหนึ่งที่เคยทำไว้เป็นอารมณ์ อารมณ์นี้เป็นอารมณ์ทางใจเท่านั้น กล่าวคือจิตคิดถึงบุญหรือบาปที่เคยทำไว้ ถ้าคิดถึงบุญ สีหน้ามักจะเบิกบานแจ่มใสบอกลางแห่งสุคติ ถ้าคิดถึงบาป มักจะมีท่าทีกระสับกระส่ายบอกลางแห่งทุคติ นิมิตนี้มักเกิดกับบุคคลที่คิดอยู่เป็นนาน ก่อนจะทำบุญหรือบาป
๒. กรรมนิมิต หมายถึง จิตยึดเอาวัตถุที่เกี่ยวข้องกับกรรมในอดีตเป็นอารมณ์ อารมณ์นี้ได้แก่อารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรื่องที่รู้ทางใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุญหรือบาปที่เคยทำไว้ โดยมีภาพวัด พระพุทธรูป ไทยธรรม เสียงสวดมนต์ กลิ่นดอกไม้บูชาพระ ฯลฯ เป็นนิมิตของสุคติ ภาพอุปกรณ์ที่ใช้ทำบาป ภาพหรือเสียงสาปแช่งของ ศัตรู ฯลฯ เป็นนิมิตแห่งทุคติ นิมิตนี้มักเกิดกับบุคคลที่ทำบุญหรือบาปโดยไม่ได้คิดล่วงหน้า
๓. คตินิมิต หมายถึง จิตยึดเอาอารมณ์ ๖ ที่จะได้พบเห็นหรือเสวยในภพหน้าเป็นอารมณ์ โดยมีวิมาน ฯลฯ เป็นนิมิตแห่งเทวโลก ครรภ์มารดา ฯลฯ เป็นนิมิตแห่งโลกมนุษย์ เปลวไฟ ถ้ำ ฯลฯ เป็นนิมิตแห่งอบายภูมิ นิมิตนี้มักเกิดกับบุคคลผู้ใฝ่ฝันถึงผลของบุญและบาปที่จะเกิดขึ้น

นรกสวรรค์ ๓ ประเภท
พุทธศาสนาสอนว่า นรกสวรรค์นั้นมีอยู่จริง และได้แบ่งแยกนรกสวรรค์ไว้เป็น ๓ ประเภทคือ
๑. สวรรค์ในอกนรกในใจ ได้แก่อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าได้เสพอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งความสุข เป็นที่พออกพอใจแล้วก็เรียกว่าสวรรค์ ตรงกันข้าม ถ้าอารมณ์ที่เสพไม่เป็นที่พอใจ ก็ถือว่าเป็น นรก เป็นนรกสวรรค์ที่เห็นกันได้ในปัจจุบันนี้ ชาตินี้ ไม่ต้องรอชาติหน้า
๒. นรกสวรรค์ในโลกนี้ที่มองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ ได้แก่ความเป็นอยู่ภายนอกของมนุษย์ในโลกนี้ ที่มีความมั่งมีศรีสุข มีความเป็นอยู่อุดมสมบูรณ์ มีเครื่องใช้สอยประณีตเหนือมนุษย์สามัญ มีความเป็นอยู่สะดวกสบายราวกับอยู่ในสวรรค์ ตรงกันข้าม ถ้าเกิดมายากจน ขาดแคลนเสื้อผ้าอาหาร บ้านก็ไม่มีต้องเที่ยวเร่ร่อนไป มีชีวิตอยู่อย่างลำบากยากแค้น หรือมีโรคเรื้อรังรักษาไม่หาย เป็นคนพิการ ตาบอด หูหนวก บ้าใบ้ ง่อยเปลี้ยเสียขา อยู่อย่างทรมานไปวันๆ อย่างนี้ก็เรียกว่านรก
นายแพทย์ไมคลอส นีซลิ เป็นเชลยชาวยิวซึ่งโชคดีมีชีวิตรอดจากค่ายกักกันของพวกนาซี เขาได้บรรยายถึงค่ายกักกันเชลย ซึ่งมีสภาพอันทารุณโหดร้ายราวกับนรกบนดิน ความบางตอนว่า
พวกเยอรมันบังคับให้พวกเชลยขึ้นรถไฟหลายขบวน แต่ละขบวนมีตู้รถประมาณ ๔๐-๕๐ ตู้ และแต่ละตู้ต้องเบียดเสียดกันแน่นประมาณ ๘๐-๙๐ คน แทบไม่มีที่นอนหรือเหยียดแขนขา ซ้ำร้ายภายในตู้ ก็มืดทึบและอากาศก็อุดอู้ แถมไม่มีส้วมให้ใช้ คิดดูเอาเถอะว่านี่มันนรกหรืออะไรกันแน่ พวกเชลยต้องทรมานอยู่ในตู้รถไฟ ซึ่งมีคนป่วยและคนตายนอนกองทับกันรอบตัวถึงห้าวันกว่าจะเดินทางมาถึงค่ายกักกัน
ภายในค่ายหลายแห่ง ในแต่ละวันจะมีนักโทษประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ คน ถูกอัดเพิ่มเข้าไปในกรงขังจนแทบไม่มีที่อาศัยหลับนอน บางแห่งนักโทษยัดทะนานจนไม่สามารถเหยียดแขนขาออกไปรอบข้างได้สะดวก ในเวลากลางคืน พวกเขาจะพากันนอนหลับทั้งนอนตามยาวหรือไขว้กันโดยเอาหัวหนุนเท้า คอ หน้าอก สลับกันไป
พวกนักโทษไม่มีเวลานอนหลับสบายโดยตลอด เวลาตี ๓ มีสัญญาณแตรปลุกให้ตื่น ใครนอนขี้เซาหรือกำลังสะลึมสะลือจะถูกปลุกด้วยกระบอง หรือทั้งเตะทั้งถีบ บางครั้งถูกราดด้วยน้ำทั้งถังจน เปียกโชก ทุกคนต้องรีบวิ่งออกไปเข้าแถวนอกคุกเพื่อขานชื่อ กว่าจะเสร็จก็เวลา ๗.๐๐ น. ในขณะขานชื่อ หากแถวใดไม่ตรง นักโทษในแถวนั้นต้องเพิ่มเวลายืนนานกว่าแถวอื่นอีกหนึ่งชั่วโมง พร้อมกับชูมือเหนือศีรษะตลอดเวลา ทำให้ขาสั่นด้วยความเมื่อยล้าและหนาวเหน็บ ในกรณีที่มีคนตายในคุก ซึ่งมีวันละ ๕-๖ คนเป็นประจำ บางวันมีคนตายถึง ๑๐ คน ศพคนตายทั้งหมดจะต้องนำมาเข้าแถวขานชื่อด้วย โดยให้นักโทษสองคนช่วยพยุงศพคนตายหนึ่งศพยืนเข้าแถว ทั้งๆ ที่บางศพดูน่าเกลียดน่ากลัวหรือน่าสมเพชมากทีเดียว สภาพของศพอยู่ในลักษณะเปลือยกาย แข็งทื่อ คอพับ ส่งกลิ่นเน่าเหม็น ศพจะถูกพยุงยืนอยู่ในแถวจนกว่าการขานชื่อนักโทษทั้งหมดจะเสร็จสิ้น ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ยังไม่ลำเลียงศพไปยังเตาเผา โดยปล่อยทิ้งไว้ในคุกเป็นเวลานานหลายวัน ศพที่ปล่อยทิ้งไว้จะถูกนำมาเข้าแถวขานชื่อทุกครั้งจนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาขนศพไปเผา
พวกนักโทษหญิงส่วนใหญ่คิดจะหนีให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน แต่กลัวถูกตามล่าจึงจำต้องทนอาศัยอยู่ในคุกต่อไป พวกเธอต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเก่า เน่าเหม็นยิ่งกว่าผ้าขี้ริ้ว ต้องทนสู้กับความหนาวเหน็บ และความหิวกระหายที่เกาะกุมจิตใจอยู่ตลอดเวลา ในวันฝนตก หลังคาคุกรั่ว น้ำฝนไหลลงมา ทำให้นักโทษเปียกปอนไปตามๆ กัน และต้องทนใส่ชุดเปียกชื้นไปตลอดวันตลอดคืน อาหารที่ได้รับแจกสกปรกพอๆ กับน้ำล้างจาน รสชาติเฝื่อน มีกลิ่นเน่าเหม็น แต่ทุกคนต้องกล้ำกลืนเพื่อความอยู่รอด เนื่องจากอาหารไม่มีคุณภาพ สารไข่ขาวที่มีอยู่ในร่างกายขาดแคลน เป็นเหตุให้ขาของพวกเธอหนักขึ้นๆ การขาดแคลนไขมันทำให้ร่างกายบวมฉุ ระดูที่เคยมีก็ขาดหายไป ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิด อาการโรคจิตโรคประสาทเกิดขึ้น และมีอาการปวดหัวข้างเดียว มีเลือดไหลออกทางจมูก ผลจากการขาด ไวตามินบีทำให้เซื่องซึม ขี้หลงขี้ลืม ไม่สามารถจดจำอะไรได้ง่าย พวกเธอลืมแม้กระทั่งเลขบ้านที่เคยอาศัย เหลือเพียงดวงตาเท่านั้นที่บอกให้รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่
ชีวิตมนุษย์คือความพยายามต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า สัญชาตญาณแห่งความตาย เพราะความจริงมีอยู่ว่า คนเรากลัวตาย แต่สำหรับเชลยในค่ายกักกันแห่งนี้ นักโทษส่วนใหญ่พอใจกับการที่จะถูกประหารชีวิต นี่คือเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง ทำไม ? เพราะเหตุใด ?
มีอยู่หลายครั้งที่ทำให้ชาวยิวหลายหมื่นคน ต้องนั่งรอคอยเพชฌฆาตประหารชีวิตตนเป็นเวลาหลายวัน เนื่องจากคิวเรียงแถวเดินเข้าไปยังโรงงานฆ่ามนุษย์ไม่ว่าง ทั้งๆ ที่เปลวไฟและควันกลิ่นไหม้ผมและเศษเนื้อมนุษย์พวยพุ่งออกจากปล่องของเตาเผาทั้งวันทั้งคืน
ริชาร์ด ชีเวอร์ แห่งนครนิวยอร์ก กล่าวไว้ว่า
สภาพความโหดร้ายและน่าสะพรึงกลัวในค่ายกักกันเชลยของเยอรมัน ทำให้นักโทษส่วนใหญ่ที่รอดชีวิตไปได้ต้องเสียสุขภาพจิตอย่างหนัก บางคนพยายามสร้างชีวิตใหม่หลังจากได้รับอิสรภาพแล้วหลายปี แต่ก็ไม่อาจลืมเหตุการณ์อันเลวร้ายในค่ายกักกันเชลยได้ มันบั่นทอนสุขภาพทางจิตและทางกาย จนทำให้พวกเขาต้องประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ นับตั้งแต่โรคประสาท โรคจิต และโรคร้ายต่างๆ ถึงกับเสียชีวิตไปในที่สุดหลายรายด้วยกัน
หญิงสาวคนหนึ่งได้รับอิสรภาพเมื่อเธอมีอายุ ๑๖ ปีพอดี แต่นับว่าน่าเศร้ามาก ในที่สุดเธอฆ่าตัวตายที่กรุง ปารีส เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๔ นับเป็นเวลาเกือบสิบปีหลังจากเธอได้รับอิสรภาพรอดพ้นจากค่ายนรก เธอกลับไปสู่อ้อมอกแห่งวัฒนธรรมอันดีงาม ได้แต่งงานกับชายหนุ่มที่เธอรัก ฐานะการเงินของครอบครัวเธอดีมาก เธอให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ก่อนที่เธอจะพบจุดจบของชีวิต นับเป็นเวลานานถึงหกเดือนที่เธอต้องต่อสู้กับภัยที่เกิดจากจิตใต้สำนึก ซึ่งบันทึกเอาภาพอันเลวร้าย ที่เกิดจากความทรงจำในอดีตในค่ายกักกันเชลยของเยอรมัน
(ยมทูตแห่งค่ายนรกนาซี บรรยง บุญฤทธิ์ แปล-เรียบเรียง)
วันที่ ๖ ส.ค. ๒๔๘๘ เวลา ๘.๑๕ น. เครื่องบิน B-29 ได้บรรทุกลูกระเบิดปรมาณูมาทิ้งที่เมืองฮิโรชิมา (เกิดระเบิดในท้องฟ้าที่ระดับความสูง ๕๘๐ เมตร) ผลปรากฏว่า
ผู้คนที่อยู่ในบริเวณใจกลางระเบิดนั้นตายในทันที ตัวดำเป็นผงถ่านไปหมดเพราะความร้อนบริเวณใจกลางระเบิดสูงถึงสิบล้านดีกรี (คงเป็นอุณหภูมิที่จุดศูนย์กลางซึ่งร้อนที่สุด อุณหภูมิที่พื้นดินราวสามถึงสี่พันดีกรี) คิดดูว่ามันร้อนสักเพียงไหน (น้ำเดือดที่ร้อยดีกรีเท่านั้น) บ้านเมืองราบเตียนเป็นเศษอิฐไปทั้งเมือง ผู้ที่ไม่ตายทันที เสื้อผ้าที่ห่อหุ้มร่างกายอยู่จะลุกเป็นไฟในพริบตา แขน ขา และใบหน้าก็ลุกไหม้ไปหมด ต่างพากันวิ่งไปตามถนนราวกับหุ่นที่ไร้วิญญาณ โดยไม่รู้ว่าจะวิ่งไปไหน ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวอยู่ในสภาพลุกโพลงโชติช่วงด้วยแสงไฟ
ครั้นแล้ว ใครคนหนึ่งตะโกนขึ้นเหมือนกับคนบ้าว่า ไปลงแม่น้ำกันเถิด ทุกคนเห็นดีด้วย ปรากฏว่าในวันโลกาวินาศนั้น มีคนตัวแดงๆ เพราะไฟลวกลงไปแช่ในแม่น้ำสลอนไปหมดเหมือนฝูงสัตว์ แล้วก็ค่อยๆ ตายกันไปทีละ ๑๐-๒๐ คน เพราะทนพิษความร้อนไม่ไหว จนพวกที่ยังไม่ตายรู้สึกว่าตัวมาลอยคออยู่ท่ามกลางซากศพแท้ๆ
เมื่อแช่ไปได้สัก ๕-๖ ชั่วโมง น้ำเกิดแห้ง เลยต้องแช่จมอยู่ในโคลน เนื่องจากน้ำที่แช่เป็นน้ำเค็ม เมื่อมาถูกแผลไฟลวกเข้า ก็รู้สึกปวดแสบเหมือนเอามีดมาแทง แต่ก็เป็นมีดที่อบอุ่น ทุกคนยินดีให้มันแทง เพราะอย่างน้อยก็ดีกว่าไปยืนตัวแดง ๆ ด้วยแผลไฟลวกอยู่กลางถนน
ไม่เพียงแต่ร่างกายมนุษย์ที่ลุกแดงช่วงโชติเหมือนถ่านในเตาไฟ แม้กระทั่งเมืองทั้งเมืองก็แดงโร่ไปหมด ท้องฟ้าก็แดงเสียจนมองแทบไม่เห็นท้องฟ้า เลยไม่รู้กันว่าจวนสว่างแล้ว พอรุ่งเช้าทุกคนก็วิ่งฝ่ากลุ่ม ควันดำๆ ที่ฟุ้งตลบอยู่เพื่อไปโรงพยาบาล แต่ทางที่จะไปนั้นระเกะระกะไปด้วยเศษเหล็กและซากบ้านเรือนที่พังทลาย มีเสียงคนนอนร้องครวญครางไปตลอดทุกระยะน่าสยดสยอง นั่นไม่ใช่เปรตหรืออสุรกายที่ไหน คนเหมือนกัน
ผู้คนที่เสียชีวิตอย่างน้อยมีสามแสนคน ที่เหลือก็พิการ นอนเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาลหรือตามบ้านโดยไม่มีใครเหลียวแล ผู้รอดชีวิตโดยบาดเจ็บเล็กน้อยมีไม่มาก นายคิกกาวาเป็นหนึ่งในบุคคลที่รอดชีวิตและต้องทนอยู่อย่างทรมาน เขาเล่าถึงความหลังว่า
ขณะที่กำลังจะผลักประตูเข้าบ้าน ทันทีที่รู้สึกว่ามีแสงประหลาด เขาก็ยกมือขึ้นปิดศีรษะ มือและหลังจึงโดนแสงนั้นเต็มที่ ต่อจากนั้นก็ไม่รู้สึกตัว มารู้สึกตัวอีกครั้ง ก็พบว่ากำลังนอนอยู่ในบ้านซึ่งเต็มไปด้วยเศษไม้ชิ้นเล็กชิ้นน้อย
เมื่อออกมานอกบ้านก็เห็นเพื่อนบ้านคนอื่นๆ วิ่งออกจากบ้าน ทุกคนเหลือแต่ร่างเปลือยและตกใจเหมือนจะเป็นบ้า ตอนนั้นเขาไม่รู้สึกเจ็บ ต่อมาอีก ๒ วันจึงเจ็บมาก เป็นไข้สูง ๔๐ กว่าองศา กินอะไรไม่ได้เลยอยู่ ๑ เดือน ผมร่วงหมด เลือดออกจากจมูกและปากเสมอ เป็นเลือดดำ ไม่ใช่เลือดแดงอย่างที่เห็นกัน และมีหนอนตัวเล็กๆ ออกมา จากผิวหนัง เขานอนเจ็บอยู่ในบ้านเล็กๆ ที่ต่างจังหวัด ๖ เดือน ตลอดเวลานั้นกินได้แต่น้ำอย่างเดียว
พ่อแม่ของเขาตายหลังจากถูกระเบิด ๒ วัน เพราะทนพิษบาดแผลไม่ได้ คนที่เจ็บเพราะระเบิดปรมาณูโดยมากตายหมด เหลือไม่ตายราวสี่พันคน พวกที่ตายถือว่าโชคดี คนโชคร้ายเท่านั้นที่รอดเหลือมา เพราะต้องผจญกับความทรมานอีกมากมาย ไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีใครอุปการะ ตายเสียก็ไม่ตาย อยู่ไปก็มืดมนไร้อนาคต
เวลานี้ (๕ ปีหลังจากถูกระเบิด) ตัวนายคิกกาวามีแผลเป็นเต็มหลัง หมอได้พยายามลอกเอาหนังที่เสียออก ๑๖ ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ลอกแล้วมันขึ้นมาใหม่ไม่เป็นหนังธรรมดาเลย แต่เป็นหนังเสียทุกครั้งไป นอกจากนี้นิ้วมือเขาก็หงิกงอน่าทุเรศ
(โฉมหน้าอันแท้จริงของญี่ปุ่น โดย วิลาศ มณีวัต)
๓. นรกสวรรค์ที่เป็นปรโลก (โลกอื่น) มองไม่เห็นด้วยตา ได้แก่สวรรค์ที่เป็นโลกจริงๆ มีเทวดาอยู่เป็นตัวเป็นตน เสวยสุขอยู่จริงๆ และนรกที่เป็นโลกจริงๆ มีสัตว์นรกที่กำลังเสวยทุกข์อยู่จริงๆ นรกสวรรค์ประเภทนี้ สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันที่รับรองว่า โลกเรานี้เป็นสะเก็ดที่แตกออกมาจากดาวดวงมหึมา นอกจากโลกเราแล้ว ยังมีดาวดวงอื่นๆ อีก ที่คล้ายคลึงกับโลกเรา ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง จำนวนมากมายนับไม่ถ้วน
เชื่อกันว่า ดาวที่ปรากฏอยู่บนท้องฟ้ามีประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านดวง แต่ที่มองเห็นด้วยตาเปล่ามีไม่เกิน ๖,๐๐๐ ดวง การนับดาวนับจากภาพที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ แล้วใช้เครื่องนับที่ทำงานด้วยแสงเลเซอร์และเครื่องคอมพิวเตอร์ ดวงดาวจำนวนมากมายเหล่านั้น อาจจะมีสิ่งมีชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยความประณีตสุขุม ดีกว่าโลกของเราทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อุณหภูมิ หรือดินฟ้าอากาศ นี้แหละเรียกว่าโลกสวรรค์ ในทางตรงกันข้าม ก็อาจมีดาวบางดวงซึ่งมีสิ่งมีชีวิต ที่เป็นอยู่ด้วยความลำบากยากแค้น ยิ่งกว่าคนลำบากที่สุดในโลกของเรา อาหารก็ไม่ดี อุณหภูมิก็ไม่ดี ดินฟ้าอากาศก็ไม่ดี นี้แหละนรกที่เป็นโลกอื่น

ภูมิ ๓๑
พระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญที่สุดของพุทธศาสนากล่าวถึง นรกสวรรค์ที่เป็นปรโลกไว้หลายแห่ง เช่น ๒๕/๒๗๓ (เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๗๓) กล่าวถึงอบายภูมิ ๔ ๑๙/๑๖๘๑ กล่าวถึงสวรรค์ ๖ ๑๑/๒๓๕ กล่าวถึง อรูป (อรูปพรหม) ๔ เป็นต้น
ในคัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า ภพหรือภูมิที่สรรพสัตว์ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดมีทั้งหมด ๓๑ ภูมิ คือ
อบายภูมิ ๔ (นิรยภูมิ ติรัจฉานภูมิ ปิตติวิสยภูมิ อสุรกายภูมิ)
มนุษย์ ๑
สวรรค์ ๖ (จาตุมหาราชิกาภูมิ - ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ)
รูปพรหม ๑๖ (ปาริสัชชาภูมิ - อกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ)
อรูปพรหม ๔ (อากาสานัญจายตนภูมิ - เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ)
ใน ๓๑ ภูมินี้ อบายภูมิ ๔ จัดเป็นทุคติ ที่เหลือคือ มนุษย์ เทวโลกและพรหมโลกจัดเป็นสุคติ

10 พฤศจิกายน 2553

คาถาบูชาเทพ

นะ ระ วะ สะ กัง